Thursday, May 24, 2012

เก็บสมุนไพร ว่านต่างๆ ที่เป็นมงคล


ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 - 2498 พระภิกษุสุภา (ซึ่งต่อจากนี้ไปจะเรียกว่า หลวงพ่อสุภา) บำเพ็ญธุดงค์วัตรเข้าออกประเทศไทยกับลาว อยู่เป็นนิจ หลังจากธุดงค์อยู่ในประเทศลาวเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ธุดงค์ต่อไปทางเมืองพนมเปญ โดยไปพำนักอยู่ในถ้ำศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อสุภาเล่าว่า ใครที่ได้เข้าไปอยู่ในถ้ำแห่งนี้ จะอยู่ยงคงพระพัน ฟันไม่เข้า แทงไม่ออก ที่เขมรนี้เองท่านได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ ไปด้วย และขณะที่ธุดงค์อยู่ตามป่าตามเขาทั้งในประเทศลาว และเขมร เมื่อท่านได้พบเห็นสมุนไพรหรือว่านที่มีสรรพคุณหายาก ก็จะเก็บรวบรวมไว้ ซึ่งต่อมาท่านได้นำเอามาทำเป็นวัตถุมงคล แจกจ่ายญาติโยมทั่วไป
หลวงพ่อสุภาธุดงค์อยู่ในถ้ำประเทศเขมรเป็นเวลาถึง 3 ปี ครั้นออกจากเขมรแล้ว ก็เดินทางไปเมืองฮานอย เมืองเว้ ประเทศญวน (ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) เพื่อจะได้ไปเห็นไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่ชนต่างๆ
เมื่อกลับจากประเทศญวน ท่านก็เดินธุดงค์กลับประเทศไทย และธุดงค์ต่อไปในแถบภาคอีสาน ในการกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ หลวงพ่อสุภา ถือได้ว่าเป็นพระภิกษุผู้อาวุโส ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกคือได้ไปรู้ไปเห็น ไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่ชนต่างๆ ไปเห็นบ้านเมืองต่างๆ ในหลายๆ ประเทศ ส่วนทางธรรมท่านได้ไปศึกษามาหลายสำนัก แต่ท่านก็อ้างเหตุผลด้วยอัธยาศัยอันอ่อนน้อมถ่อมตนว่า เป็นเรื่องของการสนองความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น แต่วัตรปฏิบัติ ที่ท่านยึดถือปฏิบัติอย่างมั่นคงเสมอมาคือแนวทางพระพุทธศาสนา นั้นเอง
พระภิกษุที่หลวงปู่สุภานับถือว่าเป็นพระอาจารย์ ในทางกรรมฐานหรือวิปัสสนาของท่านมีเพียง 2 รูปเท่านั้น คือ หลวงปู่สีทัตต์ พระอาจารย์ในทางวิปัสสนาท่านแรก ได้สอนท่าน ทางด้านพระคัมภีร์ปริยัติ ทั้ง 5 ซึ่งหากจะศึกษาได้แตกฉาน จะต้องเรียนมูลกัจจายน์ 5 เล่ม ให้จบเสียก่อน ซึ่งมีพระสงฆ์น้อยองค์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่จะมีคุณสมบัติเหมือนท่าน (พระคัมภีร์ปริยัติทั้ง 5 คือการเรียนวิธีขึ้นพระคัมภีร์ เรียนศัพท์ เรียนแปล ตั้งธาตุหนุนธาตุ ฯลฯ) อาจารย์รูปที่สองคือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ท่านได้ศึกษาทางด้านอภิญญา ตามกิตติศัพท์ของหลวงปู่ศุข ทางด้านนี้ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่คนไทย ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ตราบจนทุกวันนี้
หลวงพ่อสุภาท่านเคารพท่านอาจารย์ทั้งสองมาก จะสังเกตได้จากการที่ท่านกล่าวถึงท่านอาจารย์ทั้งสอง ในลักษณะเคารพนอบน้อมอยู่เสมอๆ และในสำนักสงฆ์หรือวัดทุกแห่งที่ท่านได้สร้างขึ้น จะมีรูปถ่ายของท่านอาจารย์ทั้งสอง คือ หลวงปู่สีทัตต์ และหลวงปู่ศุขติดอยู่เสมอ

No comments:

Post a Comment