หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล พระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน |
1. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
2. นายเสน วงศ์ภาคำ (บวชเป็นพระภิกษุ-มรณภาพ)
3. นางผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
4. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
5. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
6. หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล
7. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
8. นางกา วงศ์ภาคำ
หลวงปู่สุภา เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว เมื่อตอนเป็นเด็กท่านอ้วนท้วนสมบูรณ์ ผิวขาว หน้าตาน่ารักน่าชัง ท่านใช้ชีวิตอย่างเช่นเด็กทั่วๆ ไป ในสมัยนั้นคือ เที่ยววิ่งซุกซนไปตามประสา จะมีโอกาสเรียนเขียนอ่านก็ต่อเมื่อ พ่อแม่พาไปฝากวัดให้พระท่านสอน หรือไม่ก็ให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่รู้หนังสือสอนให้ วัดจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวที่เด็กชายไปแสวงหาความรู้ เช่นเดียวกับคนอีสานส่วนใหญ่สมัยนั้น คือมักจะให้ลูกบวชเป็นเณร
เมื่อหลวงปู่สุภาอายุได้ 7 ขวบ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านและเพื่อนๆ ออกไปวิ่งเล่นที่ริมทุ่งชายป่า ได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่ง มาปักกลดพักอยู่ใต้ต้นตะแบกใหญ่ เด็กคนอื่นๆ ที่เห็นพระรูปนั้นไม่ได้สนใจ ต่างพากันวิ่งเล่นกันต่อ เว้นไว้แต่เด็กชายสุภา ซึ่งมีจิตใจโน้มมาทางธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย จะเห็นได้จากการที่ชอบเข้าใกล้พระ ชอบไปวัด ดังนั้นเมื่อท่านเห็นพระธุดงค์รูปนั้นปักกลดพักอยู่ ก็แยกตัวออกจากเพื่อนๆ ตรงเข้าไปกราบ เมื่อพระภิกษุชราที่นั่งพักอยู่ภายในกลดเห็นเด็กชาย หน้าตาน่ารักเข้ามากราบอย่างสวยงาม เหมือนกับได้รับการสั่งสอนมาเป็นอย่างดี จึงมองเด็กน้อยคนนั้นด้วยความเมตตา เพิ่งดูลักษณะอยู่ครู่เดียว จึงบอกเด็กน้อยว่า ต่อไปภายหน้าจะได้บวช เมื่อบวชแล้วอย่าลืมไปหาท่าน พระภิกษุรูปนี้คือ หลวงปู่สีทัตต์ จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าอุเทน จังหวัดนครพนมนั้นเอง แต่ในเวลานั้น เด็กชายสุภายังไม่ได้นึกอะไร ได้แต่นั่งคุยกับหลวงปู่สีทัตต์อยู่ครู่หนึ่ง จึงนมัสการลากลับ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ หลังจากได้พบกับหลวงปู่สี่ทัตต์ที่ชายป่าในครั้งนั้นแล้ว เป็นเวลา 2 ปี
เมื่อหลวงปู่สุภามีอายุได้ 9 ขวบ บิดามารดาได้นำท่านบวชเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์สอน เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรสุภาได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์สอน เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปเรียนมูลกัจจายน์ที่วัดไพรใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอาจารย์มหาหล้า และฆราวาสชื่อ อาจารย์ลุย เป็นผู้สอน สามเณรสุภาได้ใช้เวลาศึกษามูลกัจจายน์อยู่ที่วัดไพรใหญ่ เป็นเวลาหลายปี เมื่อเรียนจบแล้วได้กราบลาอาจารย์เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม จึงได้ออกเดินทางมานมัสการ หลวงปู่สีทัตต์ ที่วัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลวงปู่สีทัตต์ ท่านเป็นพระป่า มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และทรงวิทยาคม ทางด้านคาถาอาคมไสยเวท ซึ่งท่านได้ศึกษาวิชาอาคมด้านต่างๆ มาจากสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว สมเด็จลุน ท่านเป็นสุดยอดปรมาจารย์ของประเทศลาว พระเกจิอาจารย์ทางภาคอีสาน แถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังล้วนฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านทั้งสิ้น สมเด็จลุนท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย เหลือจะบรรยายเป็นตัวอักษรได้ จะขอกล่าวไว้พอเป็นสังเขป สมเด็จลุนท่านสามารถเดินข้ามแม่น้ำโขงด้วยเท้าเปล่า และบางครั้งท่านจะไปนั่งสรงน้ำกลางแม่น้ำโขง นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน
และในบรรดาลูกศิษย์ของสมเด็จลุน หลวงปู่สีทัตต์ ถือเป็นศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดตำราวิทยาคม จากสมเด็จลุนจนหมดสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลูกไม้จะหล่นไกลต้น
เมื่อสามเณรสุภา ได้กราบนมัสการหลวงปู่สีทัตต์แล้ว ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่สีทัตต์ได้รับสามเณรสุภาเป็นศิษย์ด้วยความยินดี นับว่าหลวงปู่สีทัตต์เป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรก ของสามเณรสุภา
สามเณรสุภาได้เริ่มฝึกรรมฐาน และออกธุดงค์กับหลวงปู่สีทัตต์ ซึ่งท่านได้พาสามเณรสุภาธุดงค์ข้ามไปฝั่งลาว หลวงปู่สีทัตต์ได้พาไปที่ถ้ำภูเขาควาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความสวยงามน่าอยู่ ในถ้ำแห่งนี้มีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธรรมรวมกันมาก ถ้ำภูเขาควายเปรียบเสมือนถ้ำสำนักตักศิลา ที่มีพระสงฆ์ลาวและไทย ไปจำพรรษาและแลกเปลี่ยนวิชาอาคม หนทางที่จะไปถ้ำถูเขาควายลำบากมาก เต็มไปด้วยสิ่งเร้นลับ พระธุดงค์ที่เดินทางไปถ้ำภูเขาควาย ถ้ามีวิชาอาคมไม่แก่กล้าพอ มักจะเอาชีวิตไปทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก
สามเณรสุภา ได้ติดตามหลวงปู่สีทัตต์ไปธุดงค์จนอายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ. 2459 หลวงปู่สีทัตต์จึงได้อุปสมบทให้สามเณรสุภา ภายในถ้ำภูเขาควาย โดยมีหลวงปู่สีทัตต์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเถระที่ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดถ้ำภูเขาควายเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กนฺตสีโล”
หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สุภา ได้อยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นได้ติดตามหลวงปู่สีทัตต์กลับมาจำพรรษาที่ วัดท่าอุเทน เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทน เมื่อมีเวลาว่างท่านจะพา หลวงปู่สุภา และลูกศิษย์ออกธุดงค์แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดท่าอุเทน จนกระทั่งสร้างพระธาตุท่าอุเทนเสร็จเรียบร้อย
หลวงปู่สุภา ได้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงปู่สีทัตต์ เป็นเวลานานถึง 8 ปี
เมื่อปี พ.ศ. 2463 หลวงปู่สุภา ได้กราบลา หลวงปู่สีทัตต์ เพื่อเดินทางธุดงค์วัตร และออกจากถ้ำภูเขาควาย เดินทางกลับตามที่หลวงปู่สีทัตต์ แนะนำ และ หลวงปู่สีทัตต์ ท่านยังได้บอกว่าท่านจะได้พบกับอาจารย์ที่เก่งมากองค์หนึ่ง
หลวงปู่สุภา ออกเดินทางไปตามเส้นทางที่ หลวงปู่สีทัตต์ แนะนำ เมื่อถึงจังหวัดหนองคายก็ออกธุดงค์เข้ากรุงเทพฯ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ท่านได้สอบถามพระเกจิอาจารย์ ที่เก่งทางด้านวิปัสสนากรรมฐานด้านพุทธาคม มีคนเล่าลือว่า อาจารย์ศุข (หลวงปู่ศุข) อยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ท่านจึงได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ จนมาถึงอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อมาถึงวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านได้คลานเข้าไปกราบหลวงปู่ศุข ซึ่งขณะนั้น หลวงปู่ศุข ท่านทราบแล้วว่า จะมีพระภิกษุมาจากประเทศลาว หลวงปู่ศุขจึงถามท่านว่ามาจากประเทศลาวใช่หรือไม่? ท่านจึงตอบและกราบเรียน หลวงปู่ศุข ว่า ท่านมีความประสงค์ที่จะมาศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิชาอาคม หลวงปู่ศุข จึงรับไว้เป็นศิษย์ หลวงปู่สุภา ได้ศึกษาวิชาต่างๆ จาก หลวงปู่ศุข เป็นเวลา 3 ปี หลวงปู่ศุข ได้ถ่ายทอดวิชาด้วยความเมตตาต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ หลวงปู่สุภา จะบวชเป็นพระภิกษุนานถึง 4 พรรษาแล้วก็ตาม แต่ หลวงปู่ศุข ก็ยังเรียกท่านว่า “เณรน้อย” ในขณะที่ หลวงปู่สุภา ได้มอบตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ศุข ท่านมีอายุมากแล้ว แต่ท่านยังปฏิบัติธรรม และนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ทุกวัน
หลวงปู่สุภา ให้ความเคารพนับถือ หลวงปู่ศุข เป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ศุขจึงนับเป็นพระอาจารย์องค์ที่สองของท่าน ต่อจาก หลวงปู่สีทัตต์
ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาคม หลวงปู่ศุข ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาต่างๆ ให้กับ หลวงปู่สุภา เมื่อ หลวงปู่ศุข นั่งกรรมฐาน หลวงปู่สุภา ท่านก็นั่งด้วย หากติดขัดปัญหาธรรม ก็ไปกราบเรียนถามท่าน ก็เมตตาแนะนำให้ทุกครั้ง ท่านจะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกศิษย์ศึกษาทำความเข้าใจ หลวงปู่สุภา ท่านค่อยๆ ศึกษาดูว่า หลวงปู่ศุข ทำอย่างไร? ในเวลาที่ท่านปลุกเสกวัตถุมงคลก็ไปคอยสังเกต พระคาถาต่างๆ หลวงปู่ศุข ก็สอนให้บ้าง จดจำเองบ้าง และไปขอท่านบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีลูกศิษย์คนใดจะปฏิบัติจนบรรลุได้เหมือน หลวงปู่ศุข บางครั้งเวลาลงยันต์ทำตระกุด ต้องลงไปทำในใต้น้ำไม่มีใครเห็น จะเห็นก็ต่อเมื่อตอนท่านขึ้นจากน้ำแล้ว
หลวงปู่สุภา ท่านศึกษาวิทยาคม จากการอ่านตำราที่ท่านจดเขียนไว้บ้าง ดูจากกรรมวิธีที่ หลวงปู่ศุข ทำให้ดูบ้าง เรียนถามท่านบ้างท่านก็แนะนำให้พอสมควร ใครสนใจมากก็ได้มาก ใครไม่สนใจก็ไม่ได้เลย แต่ส่วนใหญ่ หลวงปู่ศุข ท่านจะเน้นเรื่องการรักษาศีล และการกฏิบัติมากกว่า เพราะท่านสอนว่า ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษจะมีมาเอง หลวงปู่สุภา ได้ศึกษาธรรม และวิทยาคมต่างๆ มากมายโดยเฉพาะความรู้ในทางธรรม และวิทยาคมต่างๆ ในครั้งนั้นมีพระภิกษุไปปฏิบัติธรรม และเรียนวิชาอยู่กับหลวงปู่ศุข ด้วยกันหลายสิบรูป ซึ่งปัจจุบันมรณภาพกันไปหมดแล้ว เท่าที่ทราบในเวลานี้ มีเพียง หลวงปู่สุภา เพียงรูปเดียวในบรรดาศิษย์รุ่นเดียวกัน ที่ยังมีชีวิตอยู่นับถึงปัจจุบันนี้ หลวงปู่สุภา ท่านมีอายุยืนยาวถึง 117 ปี
No comments:
Post a Comment