Tuesday, June 12, 2012

ประวัติ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ


อัตตะประวัติแห่งหลวงพ่อเดิม ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (พุทฺธสโร)
วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

         ต้นตระกูลของหลวงพ่อเดิม เป็นชาวนา อยู่ในหมู่บ้านหนองโพ ต้นรากเดิม โยมบิดาของท่านได้ถือกำเนิดที่บ้านเนินมะกอก (อยู่เลยหมู่บ้านหนองโพไปประมาณสองสถานี) ต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับโยมมารดาของหลวงพ่อเดิม ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองโพและย้ายมาประกอบการอาชีพอยู่ที่บ้านโพ โยมบิดาของท่าน ชื่อ เนียม ส่วนโยมมารดาชื่อ ภู่ ในระยะที่โยมบิดามารดาของท่านประกอบอาชีพอยู่นั้นตรงกับสมัยหลวงตาชมเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ นามสกุลของหลวงพ่อคือ ภู่มณี

 
หลวงพ่อเดิมถือกำเนิด
         ในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ วันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๐๓ ฟ้าก็ได้ส่งให้หลวงพ่อมาจุติในโลกมนุษย์เพื่อยังความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พุทธศาสนิกชนคู่วัดหนองโพ และจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อท่านถือกำเนิดมาเป็นลูกผู้ชายของตระกูล ย่อมเป็นที่ยินดีปรีดาของโยมบิดามารดา เป็นที่ยิ่ง จึงขนานนามท่านว่า “เดิม”
สำหรับนามของท่านนี้มีนัยสันนิษฐานได้สองทางซึ่งจะยกมากล่าวได้คือ
ประการแรก ด้วยท่านเป็นบุตรชายคนหัวปีของโยมบิดามารดา สมใจที่ตั้งไว้จึงมีจิตนิยมยกย่องว่า เป็นประเดิม แต่ครั้นจะตั้งชื่อว่า“ประเดิม” ก็จะยาวไป จึงตั้งเสียว่า “เดิม” ซึ่งชาวบ้านเชื่อประการนี้มากที่สุด
ประการที่สอง มีเรื่องเล่ากันว่าท่านเคยเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นบุตรชายของโยมมารดาบิดาท่าน แต่หากเสียชีวิตเสียแต่เมื่อยังเด็ก โยมมารดาบิดาเสียใจมาก ก่อนจะนำไปฝังได้นำเอามีดมากรีดที่ฝ่าเท้า ไว้เป็นตำหนิเพื่อว่าถ้ากลับมาเกิดอีกจะได้จำได้ ซึ่งเมื่อเกิดมาก็มีรอยอย่างนี้จริงๆ สำหรับประการหลังนี้ ขัดข้อเท็จจริง เพราะบิดามารดานั้นรักบุตรและธิดามากแม้เมื่อมีชีวิตอยู่และตายแล้ว ดังนั้นการจะเอามีดคมๆ มากรีดมาเฉือนเท้าของลูกนั้นเป็นไปได้ยาก และคำเล่าลืออันนี้คงจะเป็นเพราะรอยเท้าของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นได้ เลยกลายเป็นเรื่องเล่าให้เขวไปอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นได้
พี่น้องร่วมท้องของหลวงพ่อ หลวงพ่อมีพี่น้องร่วมท้องดังลำดับได้คือ
๑. นางทองคำ คงหาญ
๒. นางพู ทองหนุน
๓. นายดวน ภู่มณี
๔. นางพันธ์ จันทร์เจริญ
๕. นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น
ชีวิตเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิม
         เนื่องจากหลวงพ่อเดิมเกิดในตระกูลชาวนาน เมื่อเยาวัยท่านก็ได้รับการนำเข้าไปหาพระหาวัด โดยการศึกษาของชาวนาหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลางคือวัดหนองโพ เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกของตัวมีความรู้ก็นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายเจ้าอาวาส น้อมถวายบุตรแห่งตนเข้าเรียนในสำนักโดยกล่าวคำปวารณาว่า “ขอฝากลูกของกระผม หรือดิฉัน ไว้ในปกครองดูแล จะดุด่าว่าตี สั่งสอนอย่างไร ก็แล้วแต่ขรัวเจ้าจะเห็นสมควร” ระยะที่จะนำบุตรมาฝากวัดก็อยู่ในฤดูแล้ง คือระหว่าง เดือน ๙ เดือน ๑๐ และเดือน ๑๑ เพราะว่าระยะนั้นว่างจากงานไร่นา เด็กจะได้ไม่เอาเวลาว่างไปเที่ยวเกะกะเกเรเข้าพวกพ้อง
         การศึกษาในสมัยนั้นจากบันทึกกล่าวไว้ว่า กระดานชะนวนหายาก พ่อแม่จึงหาไม้กระดานใสให้เรียบแล้วทำกรอบให้ถือถนัดมือ ลมไฟให้ดำ และเอาเขม่าดินหม้อทาให้ดำ และใช้ดินสอพองอย่างชนิดผสมคล้ายๆชอล์คในปัจจุบันเขียนลงไป เมื่อเวลาพระให้เขียนแล้วอ่าน เมื่อเขียนเต็มแล้วก็เอาน้ำลายลบเวลาลบถ้าสีดำที่ทาไว้ลอก ก็ต้องหาดินหม้อผสมกันแล้วทาทับตากให้แห้งจึงนำเอามาเขียนต่อ การเรียนเขียนอ่านมักจะทำเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีพระบ้าง ฆราวาสบ้าง ช่วยกันสอนให้เขียนอ่าน
         ตกเย็นถึงกลางคืนหลังจากกลับบ้านไปกินข้าวกินปลาแล้ว พระทำวัตรเย็นเสร็จก็พากันมาวัดต่อการเรียนกับพระที่วัด สิ่งที่สอนกลางคืนก็คือ การสวดมนต์บทต่างๆ อันเป็นพระพุทธมนต์ เช่น พระอิติปิโสถวายพรพระ และพระคาถาต่างๆ วิธีการเรียนก็คือเข้าไปหาพระตามกุฎิแล้วขอเรียน โดยท่านจะสอนให้วันละท่อนสองท่อนแล้วแต่สติปัญญาของเด็กแต่ละคน ใครหน่วนก้านดีก็ต่อมากหน่อย ใครท่าทางปัญญาทึบก็สอนน้อยหน่อย ท่องต่อหน้าท่านแล้วก็กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็มาใหม่เมื่อได้เวลาก็มาหาท่านแล้วท่องตอนที่สอนให้ไปท่องให้คล่องไม่ผิดอักขระวิธีแล้ว ก็ต่อท่อนต่อไปให้ ถ้าท่องไม่ได้ก็ต้องท่องให้ได้ หรือไม่ก็ต้องกินไม้เรียวแทน เรียกว่าใครไม่เอาใจใส่ก็มีแนวโน้มไม้เรียวไปอวดพ่อแม่แน่ แต่สิ่งที่ดีก็คือจะได้รับการอบรมจากพระให้มีจิตใจสะอาด ไม่ข่มเหงใคร ให้รู้จักศีล รู้จักธรรม บางครั้งท่านก็เล่านิทานธรรมะให้ฟัง เช่น เรื่องในนิทานชาดกต่างๆ สนุกสนาน จนลืมนอนก็มี
         การสอนนั้นบางองค์ก็ใจดี เด็กๆ ชอบเรียน บางองค์ก็ดุเพราะวิชาอาคมแข็งเรียกว่าร้อนวิชาเด็กก็มักจะกลัว แต่พ่อแม่ชอบว่าพระดุดี กำหราบจอมแก่นแทนพ่อแม่ได้ และมักจะสอนดี มีคนมาฝากลูกหลานเข้าเรียนกันมากจนรับไม่ไหว การสอนหนังสือไทยสอนจนอ่านออกเขียนได้ตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต จึงให้หัดหนังสือขอม(หนังสือใหญ่) คือหัดเขียน หัดอ่านหนังสือขอม อันเป็นภาษาที่จารึกพระเวทย์วิทยาดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ท่องสูตร สนธิ การเรียกนาม เรียกสูตร มูลกัจจาย์เป็นช่วงๆ ไป พอถึงหน้าทำนาทำไร่ คือ เดือน ๖ เป็นต้นไป ก็เรียกลูกกลับจากวัด มาช่วยงานในไร่ในนา เพราะลูกชายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานตั้งแต่ตัวเล็กๆ เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำมาหากินควบไปด้วย เรียกว่าช่วยกันทำช่วยกันกิน เป็นอยู่อย่างนี้ทำให้การศึกษาไม่ติดต่อเหมือนปัจจุบันนี้ เรียนบ้างหยุดบ้าง พอจะเรียนได้ก็ลืมเสียกลับมาเรียนใหม่ก็ต้องเริ่มใหม่เรียกว่ายากลำบากเหลือเกินในการหาความรู้ บางคนเรียนมาถึงอายุ ๑๕-๑๖ ปี พ่อแม่ก็ให้บวชเณรเป็นระยะเพื่อเรียนวิชา ที่บวชแล้วเรียนเรื่อยไปถึงบวชพระก็มี
         เมื่อได้บวชเป็นพระในวัดก็แบ่งออกเป็นสองแผนก คือ พระองค์ไหนบวชใหม่แล้วมีปัญญาดีชอบทางอักษรศาสตร์ ก็จะเล่าเรียนบาลี การแปรพระธรรมบท และอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม ตลอดจนการปลุกเสก วิปัสสนากรรมฐาน พระเวทย์วิทยามนต์ การแพทย์แผนโบราณ เรียกว่าเรียนเพื่อเป็นพระอาจารย์เขา มีทั้งลบผง เสกผง และอุปเทห์ต่างๆ ตามคำภีร์โบราณ ซึ่งการเรียนอย่างนี้ส่งผลให้เกิดพระอาจารย์เจ้าที่มีอาคมขลังมามากต่อมาแล้ว ประเภทนี้โดยมากบวชแล้วไม่ยอมสึกตลอดชีวิต
         อีกแผนกหนึ่งบวชแล้วปัญญาไม่ดี หรือไม่ประสงค์จะเรียนทางวิชาอักษรศาสตร์ ก็เรียนทางการช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างปั้น การช่างฝีมือสารพัด เรียกว่าเมื่อครบพรรษาแล้วสึกออกมาก็มีความรู้ติดตัวออกมาประกอบอาชีพได้สารพัด ประเภทหลังนี้มักจะบวชชั่วคราวเพียงพรรษาเดียว หรือสองพรรษา แล้วก็สึกไปทำมาหากิน ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น คือ การให้ศึกษาของวัดหนองโพต่อบุตรหลานของบ้างหนองโพ แต่หลวงพ่อเดิมมิได้ไปศึกษาดังเช่นเขาอื่น เพราะเป็นบุตรคนหัวปีของพ่อแม่ จึงไม่ค่อยจะได้เข้าวัดเรียนหนังสืออาจจะเรียนบ้าง แต่เนื่องจากความลำบากในการเรียนที่กล่าวมาแล้ว หลวงพ่อเลยไม่ยอมเข้าเรียนก็เป็นได้
ชีวิตในวัยรุ่นของหลวงพ่อเดิม
เมื่อกล่าวถึงชีวิตในเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิมแล้ว ก็จะขอว่าถึงชีวิตในวัยรุ่นของหลวงพ่อ ดังปรากฏในบันทึกว่า
         1. ชอบเลี้ยงสัตว์ เมื่อท่านอยู่ในวัยรุ่นท่านชำนาญในเรื่องนกเขามาก เรียกว่าดูลักษณะและฟังเสียงได้คล่อง เข้าใจว่าเรียนมาจากนายพรานดักนกในหมู่บ้าน ท่านชอบดักนก และต่อนกเขามาก มีนกต่อเสียงดีหลายตัว ทำการต่อนกเขามาเลี้ยง มีบางครั้งท่านเห็นใครมีนกดีก็เอาของไปแลกกับเขา ถ้าชอบใจแล้วเป็นไม่บ่น รักสัตว์ทุกชนิดมาแต่รุ่นหนุ่ม จึงติดมาถึงเมื่อบวชแล้วก็รักสัตว์และเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานก่ไปแลกนกเขา เรื่องรักสัตว์นี้ มีเรื่องเล่าอยู่ว่าครั้งหนึ่งโยมบิดาได้ซื้อตุ้มหูระย้าให้ข้างหนึ่งให้ใส่หู ท่านได้นำตุ้มหูไปแลกนกเขา ความรู้ไปถึงหูโยมบิดามารดา จึงถูกว่ากล่าวเอาบ้าง ท่านก็ลงทุนไปเหลาเพลาเกวียนขายเพื่อรวบรวมเงินมาคืนให้โยมบิดามารดาจบครบ ไม่ยอมเสียนกเขา
         2. ลักษณะพิเศษประจำตัว (ผ้าขาวม้าโพกศรีษะ) ปกติหลวงพ่อเดิมเมื่อรุ่นหนุ่มจะไปไหน มักจะเอาผ้าขาวม้าโพกศรีษะอยู่เสมอ เรื่องนี้เล่าว่า โบราณเขาว่า คนผมหยิก หน้ากร้อ คอสั้น ฟันขาว มักจะไม่มีใครคบ แต่หลวงพ่อเองแม้จะมีผมบนศรีษะหยิก แต่ท่านกลับมีผิวขาว สูงโปร่ง หน้ายาว ศรีษะนูนอันผิดกับตำรา แต่เมื่อท่านมีผมหยิกท่านจึงเอาผ้าโพกเสียเพื่อไม่ให้ถูกล้อเลียน อาจจะเป็นปมด้อยของท่านท่านอาจจะคิดไปว่าคนคงจะไม่ชอบจึงตัดปัญหาเสียด้วยการปิดบังศรีษะ)
         3. ไม่มีนิสัยติดโลกีย์ ในวัยหนุ่มสาวนั้นหนุ่มสาวในหมู่บ้านหนองโพมักจะไปร่วมงานต่างๆ เช่น ช่วยบ้านสาวปั่นด้าย ทอผ้า ช่วยทำนา ช่วยทำงานรอบกองไฟในเวลากลางคืน หมายตาสาวๆ ไว้เพื่อเป็นคู่หมั้นคู่หมายต่อๆ ไป เรียกว่า มีโอกาสก็เกี้ยวพาราศีกันตามทำนอง อยู่ในศีลธรรมอันดี ซึ่งสมัยโบราณเขารักษาประเพณีอันดีงามไว้ ผิดกับสมัยนี้มาก แต่ในจำนวนนั้นไม่มีหลวงพ่อเดิมอยู่ด้วย เพราะท่านไม่ชอบ คืออาจะเป็นกุศลประจำตัวของท่านที่จะได้บวชเรียนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้วท่านอาจจะไม่ได้เป็นหลวงพ่อเดิมให้เราได้พึ่งบารมีก็ได้ ในระหว่างที่หนุ่มสาวเขานั่งคุยกัน ช่วยกันทำงานนั้น หลวงพ่อจะทำบ้างก็คือ มักจะแอบเข้าไปใกล้ๆ แล้วเอาก้อนดินบ้าง คันยิงกระสุนบ้าง หรือท่อนไม้บ้าง มาปาใส่กองไฟ เพื่อให้เขาตกใจเอะอะกันพอเขาวุ่นวายท่านก็ชอบใจแอบไปหัวเราะคนเดียวใครๆ เขาก็รู้ว่าเป็นฝีมือท่านเขาก็ให้อภัย เพราะรู้ว่าท่านชอบสนุกและไม่มีเจตนาจะทำให้ใครแตกกับใครหรือหันมารักท่าน
        4. ไม่เคยศึกษามาก่อนเลยในวัยรุ่น เป็นการแน่นอนว่าเมื่อท่านยังอยู่ในวัยรุ่นนั้น ท่านมิได้เล่าเรียนมาก่อนเลย แต่หากเรียนทีหลังทั้งนั้น(เมื่อบวชแล้ว) ท่านศึกษาเอาจากประสพการณ์ทั้งทางด้านช่างด้านการเลี้ยงสัตว์ ด้านการทำของต่างๆที่จำเป็น เรียกว่าแม้จะไม่เรียนหนังสือแต่ก็หาประสพการณ์เอาไว้หลายด้าน
สรุปแล้วหลวงพ่อเดิมท่านออกจะแปลกกว่าคนอื่น ในรุ่นเดียวกันคือไม่ติดในกิเลสความรักของหนุ่มสาว ในวัยอันสมควร ไม่ยินดียินร้าย จึงเป็นสาเหตุให้ท่านบวชได้นานจนตลอดชีวิต โดยมิได้เคยมีความรักหรือรู้จักความรักมาก่อนเลยในชีวิต เรียกว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องมาก่อนจะเข้าอุปสมบท มีบุญเก่ามาเกื้อหนุนให้ท่านได้ดำเนินตามรอยพระพุทธบาทจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน 



No comments:

Post a Comment