Thursday, June 21, 2012

ให้ดูตัวเอง อย่าโลเล อย่าหลับ


     ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณ คุณ Tboon จากเวปพลังจิต ที่คุณได้นำบทความดีๆ เกี่ยวกับคำสั่งสอนของหลวงปู่สุภา กันตสีโล ที่ได้สอนสั่งให้แก่คุณ Tboon มาเล่าให้ฟัง

----------------------------------------------------------

คำว่า "ให้ดูตัวเอง" นั้น หมายถึง ให้มีโอปนยิโกนั่นเอง พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีปกติน้อมดูกายดูใจตนเองเป็นหลัก เว้นการส่งจิตออกนอกอย่างไม่มีสติ ไม่มีอคติ เพ่งโทษ ละเสียซึ่งความมีทิฏฐิมานะ ทำลายอัตตาตัวตน ละเสียซึ่งความโลภ ด้วยการให้ทานตั้งแต่วัตถุทานไปจนถึงอภัยทาน และการเสียสละความสุขความเมามัวในกายในใจตนมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวม 
ละราคะ ความกำหนัดยินดีพอใจในการเสพ ไม่ว่าเสพสิ่งใด หากหลงพึงพอใจในการเสพแล้ว ย่อมเกิดโทษกับตนเองและผู้อื่น เมื่อพอใจในการเสพ ความไม่พอใจในการเสพย่อมมีอยู่ ปฏิฆะคือความขุ่นเคืองผลักไสจึงมีอยู่ด้วยเมื่อได้พบสิ่งอันไม่พึงใจนั้น การไม่หลงพอใจการเสพกามคุณ (กามที่มีคุณอยู่บ้าง) จึงเท่ากับเป็นการละปฏิฆะของคู่กันไปด้วยในตัว และละความหลง คือทำความเข้าใจในอาการอันเป็นเหตุแห่งความหลงทั้งปวง ตั้งแต่หลงอาการของขันธ์ ๕ เป็นต้นไป อ่านตัวเองให้ออกตลอดเวลา รู้จักแก้ไขปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา ให้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นครูเป็นอาจารย์สอนเรา ทดสอบ ปรับปรุงแก้ไขไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางในที่สุด
คำว่า "อย่าโลเล" คือ ให้ละนิวรณ์ นิวรณ์คือเครื่องกั้นความดี เช่นเราตั้งใจทำความดีอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว พอทำไปได้สักระยะ เราก็เกิดอาการท้อถอย พอมีสิ่งใดมากระทบเราก็เกิดท้อ เกิดเกียจคร้าน เบื่อ หนาวไปบ้างล่ะ ร้อนไปบ้างล่ะ ก็กลายเป็นเหตุแห่งความโลเล ไม่ตั้งมั่น จิตก็ขาดพลังความตั้งมั่น การละนิวรณ์ไม่ใช่หมายเพียงแค่เวลานั่งสมาธิดูนิวรณ์เข้าแทรกทำลายกันตอนนั้น แต่หมายถึงทุกเวลาทุกวินานทีที่จิตใจเราเริ่มอ่อนแอ เราอ่อนแอไปเพราะเหตุใด ต้องรู้ให้ทัน และไม่ทำตามมัน ฝืนนิวรณ์บ่อย ๆ จิตจะเข้มแข็งขึ้นไปเอง ความมั่นใจจะมากขึ้นเอง จิตจะทรงพลานุภาพได้อย่างน่าอัศจรรย์
คำว่า "อย่าหลับ" คือ ให้มีสติ หลวงปู่เคยสอนตรง ๆ ว่า เวลาทำอะไรแล้วหลงเคลิ้มไป ไปทำตามความอยากตามใจกิเลสนั้นคือ อาการหลับ ตื่นอยู่นี้ก็หลับได้ หลับคือไม่มีสตินั่นเอง ก็สรุปว่า ท่านสอนให้มีสติตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าสติเราน้อย ศีลเราก็พร่องไปได้ง่าย
------------------------------------------------
รวมความคำสอนอันสั้น 3 ข้อนี้ได้ว่า
ให้ดูตัวเอง = ปัญญา (อ่านตัวเองให้ออก ชำระสะสางกิเลสไปเรื่อย ๆ)
อย่าโลเล = สมาธิ (ละนิวรณ์ ให้มีจิตตั้งมั่น ไม่ว่าจะทำอะไร จงทำให้สำเร็จ)
อย่าหลับ = สติสัมปชัญญะ (รู้สึกตัวตลอดเวลา)

------------------------------------------------

สาธุ ศิษย์ขอกราบขอบพระคุณท่านอย่างสูงครับ


แหล่งที่มา: คุณ Tboon จาก เวปพลังจิต

Tuesday, June 19, 2012

คติธรรมของ หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล


การบวช ก็คือ การแสวงหาสัจจธรรม
มีเป้าหมายอยู่ที่ความหลุดพ้น หรือที่เรียกว่า วิมุตฺติ
***

การแสวงหาสัจจธรรม ก็คือ การแสวงหาความจริง
ความจริง ที่พระพุทธองค์ ท่านตรัสว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ
และสิ่งใดดับ สิ่งนั้นก็ย่อมเกิดอีก มันวนเวียนๆ อยู่อย่างนี้
หลักสัจจธรรมมันมีอยู่แค่นี้ แต่ตัวเราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น
จะทำอย่างไรให้รู้จริง ให้เห็นจริง และให้เข้าใจจริงๆ
***

การออกบวชของหลวงปู่ ก็เพื่อต้องการศึกษาค้นคว้า
ถึงบ่อเกิดของการเกิดต่างๆ เพื่อที่จะหาทางปฏิบัติให้หลุดพ้น
จากหลักข้อนี้ คือ ไปสู่วิมุตติ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับ อีกแล้ว
***
อยู่ในป่า นั่งวิปัสสนา ทำสมาธิ แผ่เมตตา ไปเรื่อยๆ
นั่งสมาธิไปเรื่อย ลืมตาแล้วก็เพ่งๆ แล้วก็เกิดตาเนื้อ
ตาในก็ต้องหลับ ตาเนื้อก็ต้องลืม ตาหนังก็มองไม่เห็น
***

การเดินทางธุดงค์ ถ้าจิตเราว่อกแว่ก
เรากลัวเกินไป “ตาย” ถ้ายังตัดความกลัวไม่ขาด
***
ขอบิณฑบาตเถอะ  อาตมาเองจะไปในทางที่ดี
อยากสำเร็จมรรค สำเร็จผล อยากขึ้นสู่สวรรค์และนิพพาน
***
ถ้าเสียสัตย์ ก็เสียศีล เสียศีลแล้ว ธรรมก็ไม่บังเกิด
***

ฉันสละหมดแล้ว ชีวิต ร่างกาย อะไรต่ออะไร
ไม่มีแล้ว ฉันปรารถนาทุกวันนี้ “นิพพาน”
***

ก็เราตั้งสัจจะอธิษฐานมาแล้ว จากวัดของเราที่พูดกันมา
ถึงยาก ถึงง่าย มันก็ต้องพยายาม เราต้องอดทน ต้องขยัน มีขันติ
***
เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นอะไร เกิดมาอย่างไร
และมีที่ไปอย่างไร มันก็ไปเข้าหลักสัจจธรรม
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ
***

เข้าให้ถึงสัจจธรรม เพื่อข้ามพ้นกองทุกข์ต่างๆ นานาที่มีอยู่รอบตัวเรา
จะต้องปฏิบัติธรรม ทำสมาธิให้จิตได้ดวงธรรม ดวงธรรมคือ ความสว่าง
ความสว่างคือความสว่างในทางปัญญา ที่ทำให้เราสามารถรู้ และ 
มองเห็นสัจจธรรมได้ลึกซึ้งลงไป รู้จริง แม้กระทั่งทางในจิตใจเราเอง
***

การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสิ่งนั้น การปฏิบัติเพื่อให้เห็นสิ่งนั้น
และ ปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งนั้น การปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไร
จึงจะเข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนนี้เราจึงต้องมาหัดนั่งสมาธิ มาทำกรรมฐานกัน
เพื่อฝึกจิตใจให้เป็นสมาธิไม่ว่อกแว่ก หยั่งจิตให้ลึกในธรรม ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้น
***

เรียนนี่ไม่ใช่อะไร อยากรู้ อยากศึกษาว่าอะไรมันจะเหนือกว่ากันหรือพิเศษกว่ากัน
หรือจะสำเร็จในตัวของเรา ในบุรพชาติของเราแต่ชาติก่อน
***
ตั้งสัจจะไว้ให้ดี ตั้งจิตให้มั่น อย่าไปกระดุกกระดิก
นั่งเพ่งแผ่เมตตาจิตตลอดเวลา
***
แม้ว่าเราจะมีศีล แม้ว่าเราจะมีธรรม เราควรเคารพเจ้าป่าเจ้าเข
 ผ้าจีวรก็ดี ผ้าสบงก็ดี อย่าตากทับพุ่มไม้ กอไม้
***

ให้ถือสัตย์ ศีลห้าอย่าให้ขาดจะตลอดรอดมาได้ อย่าไปโลภ อย่าไปหลง
***

การที่จะไปวิมุตติได้นั้น มันต้องผ่านการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติ
หลวงปู่จึงต้องเดินทางไปศึกษาค้นคว้ากับผู้รู้ต่างๆ และปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
***

"ไปให้ดีนะลูก เดินให้สม่ำเสมอ อย่าเร็ว อย่าช้า
ให้ค่อยไป ให้ค่อยมา โบราณเขาว่า
อยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง"
(หลวงปู่สีทัตต์ให้โอวาทก่อนลาจากไปออกธุดงค์)
***

"อยากให้ของมันเกิด อยากให้ของมันดับ
อะไรเกิดอันนั้นก็ต้องดับ อะไรดับ อันนั้นก็ต้องเกิด"
(โอวาทจากหลวงปู่ศุข)
***

ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษต่างๆ ก็จะมีมาเอง
***
ฆ่าจิตของเราให้มันตาย
อย่าให้มันมีโกรธ อย่าให้มีโลภ อย่าให้มีหลง




Sunday, June 17, 2012

ประวัติ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว


         หลวงปู่บุญ ชาตะเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๓ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๑๐ สัมฤทธิศกเวลาย่ำรุ่งใกล้สว่าง ตรงกับวันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๙๑ อันเป็นปีที่ ๒๕ แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ท่านชาตะ ณ. บ้านตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร (ในครั้ง นั้นยังเป็นตำบลบ้านนางสาว อ.ตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี  ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นบ้านท่าไม้ อ.สามพราน จ.นครปฐม แต่ปัจจุบันนี้ ต.ท่าไม้ ได้โอนไปขึ้นกับ อ.กระทุ่มแบน จ.สุมทรสาคร)
โยมบิดาของหลวงปู่มีนามว่า "เส็ง" โยมมารดามีนามว่า "ลิ้ม" ท่านมี พี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๖ คน โดยตัวท่านเป็นคนหัวปี มีน้องชายหญิง  ๕ คน ลำดับดังนี้
๑. นางเอม
๒. นางบาง
๓. นางจัน
๔. นายปาน
๕. นายคง

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว


เหตุแห่งมีนามว่า "บุญ"
         เมื่อวัยทารก ท่านมีอาการป่วยหนักถึงแก่สลบไป และไม่หายใจในที่สุดบิดามารดาและญาติ เมื่อเห็นว่า ท่านตายเสียแล้วจึงจัดแจงจะเอาท่านไปฝัง แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้ฝังท่านก็กลับฟื้นขึ้นมา บิดามารดา ได้ถือเอาเหตุนี้ตั้งชื่อให้แก่ท่านว่า "บุญ"
การศึกษาและบรรพชา
         เมื่อครั้งที่หลวงปู่บุญ ยังอยู่ในวัยเยาว์นั้น โยมทั้งสองได้ย้ายภูมิลำเนามาทำนาที่ตำบลบางช้าง อ.สามพราน  เมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม โยมป้าของท่านจุงนำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระปลัด ทอง ณ วัดกลาง ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า "วัดคงคาราม" ต.ปากน้ำ (ปากคลองบางแก้ว) อ.นครชัยศรี เมื่อท่าน อายุได้ ๑๕ ปีเต็มพระปลัดทองจึงทำการบรรพชาให้เป็นสามเณรและได้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้  เมื่อครั้งนั้นท่านได้รับใช้อย่างใกล้ชิดจึงทำให้เป็นที่รักใคร่ของพระปลัดทอง แต่เมื่อมีอายุได้ใกล้อุปสมบท ท่านมีความจำเป็นต้องลาสิกขาเนื่องด้วยความป่วยไข้เบียดเบียน
อุปสมบท
         หลวงปู่บุญ อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว เมื่อวันจันทร์เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ เอกศกเพลาบ่ายตรงกับวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๒ ในท่ามกลาง ที่ประชุมสงฆ์ ๓๐ รูป โดยมีพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดพิไทยทาราม (วัดตุ๊กตา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระ ปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐานราม และพระอธิการจับ เจ้าอาวาสวัดท่ามอญร่วมกันให้สรณาคมณ์กับศีลและสวดกรรมวาจา อนึ่ง การที่มีพระอาจารย์ร่วมพิธีถึง ๔ รูปเช่นนี้ก็เพราะพระเถระเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือ ของผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้า ภาพอุปสมบทแล้วพระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาให้ว่า "ขนฺธโชติ" แล้วให้จำพรรษาอยู่กับพระปลัดทอง ที่วัดกลางบางแก้ว
การศึกษาทางปริยัติและปฏิบัติ
         หลวงปู่บุญ ถูกว่างพื้นฐานในทางธรรมมาอย่างดีแล้วตั้งแต่เป็นเด็กวัดและสามเณร ซึ่งช่วงระยะเวลา ดังกล่าวประมาณ ๕-๖ ปี ที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระปลัดทอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพื้นฐานในทางธรรม ของท่านถูกถ่ายทอดมาโดยพระปลัดทองทั้งสิ้น อาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่านก็คือพระปลัดปาน เจ้าอาวาส วัดตุ๊กตา ซึ่งจากปากคำของพระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) บางกอกน้อย  เคยกล่าวไว้ว่าหลวงปู่บุญได้เล่าเรียนกรรมฐานและอาคมกับท่านปลัดปาน อันที่จริงนั้นอาจารย์ที่ถ่ายทอด วิชาความรู้ทางธรรม ทั้งปริยัติและปฏิบัติตลอดจนพระเวท และพุทธาคมให้แก่ท่านยังมีอีกหลายรูป แต่จะกล่าวถึงในถัดไป
สมณศักดิ์และตำแหน่ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว
ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาอีก ๔ เดือน คือวันที่ ๓๐ ธันวาคม ศกเดียวกันก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูมีราชทินนามว่า "พระครูอุตรการบดี"  และยกให้เป็นเจ้าคณะแขวง
เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ ก็ได้รับพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญา บัตรที่ "พระครูพุทธวิถีนายก" และให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรการคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐมกับจังหวัด สุพรรณบุรี
ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะสามัญในราชทินนามที่  "พระพุทธวิถีนายก"
ประวัติชีวิตหลวงปู่บุญที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนย่อยในทั้งหมดของท่าน เพราะหากจะนำมาเขียนกัน จริงๆ คงต้องยืดยาวมาก อีกทั้งได้มีนักเขียนหลายท่านพรรณาไว้อย่างถูกต้องดีแล้วผู้เขียนจึงเว้นไว้เสีย ไม่นำมากล่าวถึงอีก
เมตตาธรรม
         ปกติหลวงปู่บุญ เป็นพระที่มีความเมตตากรุณาแก่บุคคลทั้งหลายเป็นอันมาก ได้อุปการะพระลูกวัดตลอดจน สานุศิษย์ และเกื้อกูลชาวบ้านอยู่เป็นนิจ ตลอดอายุขัยของท่าน ทั้งนี้เกิดจากเป็นนิสัยโดยกำเนิดของท่านที่  เป็นผู้มีใจเป็นบุญกุศลและปฏิเสธการกระทำอันเป็นบาปมาตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว
ปล่อยปลาหมดข้อง
         สมัยเมื่อหลวงปู่บุญ ยังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่กับโยมทั้งสอง ก็มีลักษณะแปลกกว่าเด็กทั้งหลายคือ ไม่ยอมฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต และไม่ชอบการจับเอาสัตว์มาเล่น ทรมานเหมือนเด็กอื่นๆ โยมทั้งสองซึ่งมีอาชีพในการทำนานั้น  ขณะว่างจากงานก็จะเที่ยวหาปลาตามหนองน้ำต่างๆ เพื่อมาทำอาหารบริโภคเช่นเดียวกับชาวนาบททั้งหลาย  และโยมทั้งสองก็มักจะเอาท่านไปด้วย เพราะท่านเป็นบุตรคนหัวปี โดยมอบท่าน สะพายข้องใส่ปลาที่จับได้ ตอนแรกๆ ท่านไม่ยอมไปด้วย ก็ถูกโยมดุว่า ท่านจึงจนใจต้องสะพานย่ามติดตามโยมไปด้วย ในวันหนึ่งโยม จับปลาได้มาก ต่างก็พากันดีใจปลดปลาใส่ข้องได้หลายตัว ครั้นกลับมาถึงบ้านเตรียมนำเอาปลามาทำอาหาร  พอเปิดข้องออกดูปรากฏว่า ไม่มีปลาในข้องเลยแม้แต่ตัวเดียว
         เมื่อโยมถามท่านก็บอกว่าเอาปลาปล่อยไปตามทางหมดแล้ว เป็นอันว่าในวันนั้น แทบจะไม่มีกับข้าว รับประทานกันทั้งบ้าน โยมโกรธท่านมากและไม่ลงโทษเฆี่ยนตีท่าน อย่างรุงแรงหลังจากนั้นมา โยมก็มิได้ เอาท่านไปหาปลาอีกเลย และท่านก็ได้กลายเป็นเด็กที่ซึมเซาเหงาหงอยเบื่อความมีชีวิตอย่างโลภๆ หลวงปู่บุญ เคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่าท่านมีความรู้สึกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้วว่า ชีวิตทางโลกเป็นหนทางที่มีแต่ความ เบียดเบียน และมีความปรารถนาจะเข้าวัดบวชเรียนเสียเร็วๆ และก็ได้มีโอกาสบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้  ๑๓ ปี และมีชีวิตในทางธรรมมาตลอด
อำนาจ ตบะเดชะ

         แม้ว่าหลวงปู่บุญ จะเป็นผู้เฒ่าที่ใจดี แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนเกรงกลัวกันมาก กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจ ในตัว กอปรด้วยท่านเป็นคนพูดน้อย มีแววตากล้าแข็ง จึงไม่ว่าใครๆ ต่างก็พากันเกรงขามท่านกันทั้งนั้น  ใครก็ตามที่มีธุระทุกข์ร้อยมาหาท่าน ท่านก็จะรับเป็นภาระช่วยบำบัดปัดเป่าทุกข์ภัยนั้น ให้ด้วยความเมตตา กรุณาโดยทั่วหน้ากัน บางคนมาขอฤกษ์ หรือมาให้ท่านทำนายเกณฑ์ชะตาบอกข่าว ในคราวประสพ เคราะห์กรรมต่างๆ บ้างก็ขอให้ท่านรดน้ำพุทธมนต์ หรือมิฉะนั้นก็มาขอยารักษาโรคจากท่าน ครั้นเมื่อท่าน จัดการให้เรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะนั่งนิ่งๆ ไม่พูดจาว่ากระไรอีก คนที่มาหาท่านก็จะลงมือทำงานของท่านต่อไป  โดยปรกติแล้วในวันหนึ่งๆ หลวงปู่หาเวลาว่างจริงๆ ได้ยาก ท่านทำงานของท่านตลอดเวลา เว้นแต่เวลาฉัน  หรือเวลาจำวัดเท่านั้น
         บุคลิกพิเศษของหลวงปู่อีกประการหนึ่งทำให้คนเกรงขามก็คือ แววนัยน์ตาอันแข็งกร้าวอย่างมีอำนาจ ของท่าน ทุกครั้งที่ท่านพูดกับใครนัยน์ตาคู่นี้จะจับต้องนัยน์ตาของผู้นั้นแน่นิ่งอยู่ตลอดเวลา นัยน์ตา ที่ทรง พลังอำนาจเช่นนี้อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย แม้ขุนโจรใจโหดก็จะไม่กล้าสู่นัยน์ตาท่านได้
         ครั้งหนึ่งมีพระลูกวัด ๒-๓ องค์ แอบไถลมานั่งคุยกันเล่นอย่างสนุกสนานที่ท้ายน้ำหน้าวัดพร้อมกับร้อง ทักทายชาวบ้านที่พายเรือผ่านหน้าวัดไปมา โดยละเลยต่อการปฏิบัติศาสนากิจตามกำหนด หลวงปู่เดินมา เห็นเข้าพระเหล่านั้นต่างตัวสั่นงันงกด้วยความหวาดเกรงท่าน มีอยู่องค์หนึ่งที่ตกใจมากกว่าเพื่อนไม่รู้ว่า จะหลบหนีหลวงปู่ไปทางไหนดี เลยโดดหนีลงไปในแม่น้ำต่อหน้าต่อตาท่านทั้งๆ ที่ตอนนั้นเป็นฤดูหนาว และน้ำในแม่น้ำก็เย็นจัดหลวงปู่ได้ร้องบอกว่า "ขึ้นมาเถอะคุณเดี๋ยวจะเป็นตะคริวตายเสียเปล่าๆ" แล้วท่านก็ลงมืออบรมสั่งสอนพระเหล่านั้นให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องทำให้พระทุกองค์พากันเข็ดขยาด ไปอีกนาน
         อีกเรื่องหนึ่งที่ หลวงปู่บุญไม่ชอบ ก็คือ ชาวบ้านที่ชอบนุ่งโสร่งเข้าวัด ท่านมักจะปรารภในเรื่องนี้ว่า "การแต่งกายเป็นเครื่องสอนนิสัยใจคอคน การเข้าวัดเข้าวาไม่ควรนุ่งโสร่งลอยชายมันไม่สุภาพ ควรนุ่งห่มให้เรียบร้อยสักหน่อยจะสมควร" ข่าวอันนี้เมื่อล่วงรู้ไปถึงชาวบ้านละแวกนั้นเข้า ก็กลายเป็น ข้อปฏิบัติที่ว่าต่อไปเมื่อใครจะเข้าวัดจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย โดยจะต้องไม่นุ่งโสร่งเป็นอันขาด
อาพาธและมรณภาพ

         ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นต้นมา ซึ่งหลวงปู่บุญได้รับพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่พระพุทธวิถี นายกนั้น ท่านมีอายุได้ ๘๑ ปีแล้ว งานบริหารกิจการสงฆ์จังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีที่ผ่านมาก็ได้ ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อย กิจการศาสนาในด้านต่างๆ โดยการนำของท่านก็ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ตลอดมาด้วยดี แต่ระยะหลังๆ นี้ หลวงปู่บุญ กำลังเข้าสู่วัยชราภาพมากแล้ว สังขารก็ทรุดโทรร่วงโรยลงไปตาม วันเวลา จะเดินทางไปไหนมาไหนแต่ละครั้งก็ไม่สะดวก ท่านจึงกราบทูลขอลาออกจากคณะสงฆ์ สมเด็จพระ สังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีรับสั่งถามหลวงปู่ว่าเวลานี้อายุได้เท่าไร ท่านก็กราบทูลว่า ๘๑ ปีเศษ ทรงรับสั่งว่า "จงอยู่ไปก่อนเถิด"
         ท่านจึงต้องทนปฏิบัติงานต่อไปจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ อายุ ๘๔ ปี ทางการคณะสงฆ์จึงเห็นเป็นการสมควร พักผ่อนเสียที โดยให้ท่านได้รับพระราชทานยศเป็นกิติมศักดิ์ จึงได้ติดต่อให้กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น  นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกเป็นกิติมศักดิ์ หลวงปู่จึงได้พักผ่อนจากการบริหารคณะสงฆ์ คงปฏิบัติแต่กิจพระศาสนา ทำนุบำรุง พระอารามเป็นการถภายในแต่นั้นเป็นต้นมา
มีหลักฐานบันทึกต่อไปถึงตอนมรณภาพของหลวงปู่ไว้ว่า
         ท่านเจ้าคุณไม่เห็นแก่ความยากลำบาก มุ่งทำกิจที่เป็นสาธารณประโยชน์ทางศาสนา ด้วยความเคารพ อยู่ในธรรมเป็นประมาณ ควรกล่าวว่ามีจรรยา สมกับพุทธภาษิตที่ว่า "อโมฆ ตสฺส ชีวิตา " บุคคลผู้ประพฤติ ธรรมนั้นชีวิตไม่เป็นหมัน หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งพ้องกับภาษิตว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใดๆ ประพฤติธรรมสมควรธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอยู่ ผู้นั้นเชื่อว่าเคารพนับถือบูชาแก่พระตถาคตเจ้า ด้วย การบูชาอันสูงสุดยิ่ง คือมีความเป็นอยู่ ยังหิตานุหิตประโยชน์ให้สำเร็จแก่ตนและหมู่ชนต่างๆ ชั้น ซึ่งเป็น ตัวอย่างอันดี ที่ธีรชนผู้หวังคุณงามความดี น่าจะพึงดำเนินตามต่อไปหากว่าเจ้าคุณท่านยังมีชีวิตอยู่ คงทำ ประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะทางพระพุทธศาสนาอีกมาก
         แต่นี่ท่านมาถึงมรณภาพเสียเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕  ปีชวด เวลา ๑๐.๔๕ น. โดยโรคคาพาธ ณ กุฏิของท่าน สิริรวมอายุท่านโดยปีได้ ๘๙ พรรษา ๖๗
ทั้งนี้ ก็เพราะสังขารของท่านประกอบด้วยชราภาพ จึงได้แปรปรวนยักย้ายไปตามธรรมดา ถึงแม้ว่าท่าน มรณภาพไปแล้วก็ดี คุณงามความดีซึ่งกระทำไว้ ก็ปรากฏตลอดมาจนบัดนี้ และคงปรากฏต่อไปอีกชั่วกาลนาน

ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างไห้


สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้น ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ
หลวงปู่ทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็นตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่างๆ พอจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หลวงพ่อทวดคือใคร เกิดในสมัยใดและได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาไว้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นคติเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

ทารกอัศจรรย์
         เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้
 นี้มีนายว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา
สามีราโม
         เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง
         เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา
         เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ
สถูปเจดีย์ หลวงปู่ทวด

รบด้วยปัญญา
         กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์
         เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่าพระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย

รูปหล่อหลวงปู่ทวด ปางธุดงค์ วัดพะโคะ


พระสุบินนิมิต
     เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด
ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม
รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที
อักษรเจ็ดตัว
         ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ “เจ้าสามีราม” ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า “เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้” ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม
ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด” ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด”
         ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย
         ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น


รูปหล่อหลวงปู่ทวด องค์ใหญ่ที่สุดในโลก

พระราชมุนี
         สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
โรคห่าเหือดหาย
         ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า “พระสังฆราชคูรูปาจารย์” และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”
กลับสู่ถิ่นฐาน
         ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา
         ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง
สมเด็จเจ้าพะโคะ
ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า “วัดพะโคะ” มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา

รูปหล่อหลวงปู่ทวด วัดเอี่ยมวรนุช


เหยียบน้ำทะเลจืด
         ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เท้า 3 คด” ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้
         เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป
         เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา “ไม้เท้า 3 คด” พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้
         สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา
 สังขารธรรม
         หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านช้างให้” ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้
ปัจฉิมภาค
         สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์หน่อพระพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหารและปาฏิหาริย์ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์คือช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ตลอดไป

แหล่งที่มา: www.itti-patihan.com