(ต่อจากตอนที่แล้ว)
"ไม่สัมภาษณ์ประวัติอีกเหรอ ? อะไรก็สัมภาษณ์ประวัติ อะไรก็ประวัติ ถามกันอยู่ได้ พูดไปจนไม่รู้สักเท่าไหร่ ปู่ก็เล่าให้พวกเจ้าฟังอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือ ก็เอาไปเขียนกันเองว่ะ ... ถามอยู่ได้ "
"ก็ประวัติหลวงปู่ที่เอาไปเขียนน่ะ บางอย่างก็ยังไม่หมด บางอย่างก็เขียนไม่ได้ เพราะมันพิสดารจนเขียนไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะว่าอวดอุตริผิดแผกไปจากพุทธศาสนา ทำให้คนมองไม่ดีอีกล่ะค่ะ ขนาดพวกหนูมองหลวงปู่ ยังไม่เชื่อเลยว่าจะมีอายุยืนยาวตั้ง ๑๐๖ ปีแน่ะ สุขภาพ แข็งแรง ความจำดีทุกอย่าง อย่างนี้ต้องเรียก "พระห้าสมัย" เพราะเกิดตั้งแต่สมัย ร.๕ เชียว พวกหนูตายแล้วเกิดใหม่ หลวงปู่ยังไม่ตายเลย นั้นชาตินี้พวกหนูขอตายก่อนหลวงปู่ หลวงปู่จะได้ส่งพวกหนูขึ้นไปอยู่บนวิมาน อิอิๆๆ" ข้าพเจ้าพูดหยอกหลวงปู่ ท่านหันชำเลืองตามองดูแล้วก็หลับตาอีก
ใครจะเชื่อเรื่องอภินิหารหรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ จะมิได้ ข้าพเจ้าคนนึงล่ะ ถ้าไม่เห็นกับตา ยากที่จะเชื่อ ขนาดเห็นกับตายังไม่ค่อยจะเชื่อเลย แต่พอมาเจอหลวงปู่สุภา กนฺตสีโล ข้าพเจ้าต้องทึ่งในความเป็นจริง อย่าว่าแต่ข้าพเจ้าเลย ญาติโยมทั้งหลายต่างประจักษ์ในสายตาตัวเองมากันแล้ว นักมายากลทั้งหลายต้องชิดซ้ายเลย หลวงปู่เป็นพระที่ถ่อมตนมากๆ ความมีเมตตาจิตแก่ญาติโยมลูกหลานทั้งหลายต่างซาบซึ้งในความเมตตากรุณาของหลวงปู่สุดจะพรรณนาสมกับเป็นเพชรในพระพุทธศาสนาโดยแท้ ข้าพเจ้ามองหน้าท่านและก็คิดไปเรื่อย ท่านขยับตัวลุกขึ้นนั่งตรง
"หนูถามต่อนะหลวงปู่"
"อ้าว... ยังไม่จบเหรอ"
"ค่ะ.... หลวงปู่คะ หมาหอนเพราะมันเห็นผีจริงมั้ยคะ?"
"หมามันหอนก็เรื่องของหมามัน ก็มันอยากหอนนี่หว่า?"
"ชาวประมงที่มีอาชีพจับปลาขาย บาปไหมคะ?"
"อันนั้นมันเป็นอาชีพ ถ้ากลัวบาปก็เอามาถวายพระซิ" พูดพลางหัวเราะ
"ทำบุญอย่างไรจึงจะได้ไปอยู่พรหมโลก?"
"ก็ต้องปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เทพเทวาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ กลัวตกนรกเหรอ?" หันหน้ามาถามด้วยอารมณ์ดี
"สมัยตอนปู่อยู่ในป่าปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้พลังจิตแข็งแกร่ง มันก็ไม่สำเร็จสักที โมโหเลยวิ่งขึ้นเขาลูกโน้นทีลูกนั้นที จนเหนื่อยมันก็ไม่ได้ซักที พอดีมีเสียงพูดดังมาว่า "หยุดเถอะ พระคุณเจ้า อย่าทำแบบนั้นเลย" หลวงปู่จึงหันมาปฏิบัติเจริญสมาธิใหม่โดยใช้คำภาวนา ๑๗ คำ คือ
"มะอะอุนะ อะอุนะมะอุ อุอะมะนะ นะอะอุมะ"
๑๗ คำนี่แหละหลานเอ้ย... ทำอยู่ ๖ ปี จึงจะสำเร็จ ทำให้ได้เท่าหลวงปู่ หรือให้เก่งกว่าหลวงปู่ ปู่จะดีใจมากเลย"
"สาธุ" ข้าพเจ้ายกมือสาธุ
"คงอีกหลายชาติแน่เลยคะ บารมีหนูคงไม่ถึงขั้นนั้นหรอกค่ะ" ข้าพเจ้าพูด
"อ้าว... ไม่ทำจะรู้เหรอ ไม่ฝึกหัดมันจะได้ยังไงนั่นแหละ ทำอย่างปู่ว่านั่นแหละ"
"ค่ะ" ข้าพเจ้ารับคำ
"ยึดให้มั่น ตั้งสัจจะ และปฏิบัติสม่ำเสมอโดยเคร่งครัด กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย สันโดษ ไม่มีเพื่อน"
"ค่ะ"
"ตอนนี้เธอต้องเหนื่อยหน่อย เวลาปฏิบัติน้อย เอาไว้มันเข้ารูปเข้ารอยสักหน่อยก็จะมีเวลาล่ะ"
"คนเราต้องมีสัจจะ ยึดให้มั่น สังขารมันจะเจ็บก็ช่างมัน ใจเราไม่เจ็บ ฮึดสู้ดูสิหลานเอ้ย... อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆ เหมือนคนไร้ค่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ธรรมะของพระพุทธองค์เลิศล้ำเหลือคณาหาที่สุดมิได้"
"หลวงปู่คะ" ข้าพเจ้าเรียกต่อ
"เวลาที่คนมาทำบุญ เผอิญเรามาด้วยแต่ไม่มีของมาถวาย แต่เราร่วมกล่าวถวายของแก่พระสงฆ์ร่วมกับเขา เราได้อานิสงส์มั้ยคะ?"
"ถ้าจิตเราเป็นกุศล มุ่งมั่นของเรา ถึงแม้ว่าจะไม่มีของมา แต่เราได้อนุโมทนาสาธุกับเขา เราก็ได้ในส่วนของการอนุโมทนานั้นด้วย"
"วิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามศาลพระภูมิที่บ้านน่ะ ส่วนมากจะเป็นเจ้าที่ระดับใดคะ?"
"เทวดา"
"และพระบางองค์บอกว่าคนเราเมื่อตายไป จะไปเกิดเลย?"
"มันไม่ทุกคนหรอก คนตายตามอายุขัยต้องไปอยู่ที่ศาลาพันห้องก่อน รอคำพิพากษาตามบุญตามกรรมที่ทำมา บางคนก็ไปเกิดเลย บางคนก็ต้องรับกรรมที่ทำไว้ บางคนก็ไปเสวยสุขอยู่บนวิมานชั้นฟ้าโน่น ใครทำบุญก็ได้บุญ ใครทำบาปก็ได้บาป สิ่งลี้ลับเร้นลับมันมีมากล่ะลูกหลานเอ้ย..."
"บางคนไม่สบายจะตายอยู่แล้ว เมื่อสร้างพระพุทธรูปถวายวัด ทำไมยังไม่ตาย"
"อ้าว... ก็มันยังไม่ถึงที่ตาย แล้วมันจะตายได้ยังไง"
"อ้าว... " ข้าพเจ้าอ้าปากค้างในคำตอบ พูดอย่างนี้ถามไม่ถูกเลย
"คนทำบุญด้วยเงินที่ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมได้อานิสงส์มากกว่าผู้ที่ทำบุญด้วยเงินไม่บริสุทธิ์ใช่มั้ยคะ?"
หลวงปู่พยักหน้า
"ผู้ที่นำสัตว์มาปล่อยในวัด บาปมั้ยคะ?"
"บาปสิ เอามาเป็นภาระให้กับพระและชี"
"หลวงปู่คะ ญาติโยมถามว่า การนั่งหลับตาเนี่ย ได้บุญตรงไหนคะ?"
"นั่งหลับตาแบบนั่งหลับ มันก็หลับได้และได้หลับ" หลวงปู่อมยิ้ม
"นั่งหลับตา ทำจิตให้เป็นสมาธิ มีสติ รู้ลมหายใจเข้าออก ทุกขณะ มีสติระลึกอยู่ มีจิตที่สงบ ไม่มีโกรธ ไม่มีเกลียด ไม่มีโลภ ไม่มีโมหะ ไม่มีโทสะ อันนี้แหละจึงจะได้บุญ เขากล่าวว่า 'จิตสงบเพียงแค่ช้างกระดิกหู งูตวัดลิ้น แค่นี้ก็ได้อานิสงส์มหาศาลแล้ว' "
หลวงปู่พูดไปพลางบ้วนน้ำหมากใส่กระโถนไป แล้วหันมาถามข้าพเจ้า
"เข้าใจหรือเปล่า"
"พอเข้าใจค่ะ"
"หลวงปู่คะ กลัวผีทำยังไง?"
"กลัวมันหักคอเหรอ อีกหน่อยเราก็เป็นผีว่ะ!"
"คนจีนมีประเพณีฝังศพ ถ้าขุดศพขึ้นมาเผาและไม่ฝังอีกต่อไป ดีมั้ยคะ?"
"อันนั้นมันเป็นประเพณีของเขา ช่างเค้าเถอะ จะฝังจะเผาก็ตามแต่เค้าล่ะ"
"หลวงปู่คะ แขวนพระไว้ที่คอ เดินลอดราวตากผ้าถุงได้มั้ยคะ?"
"มันอยู่ที่จิตน่ะ พระที่ทำเค้าจะปลุกเสกด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไม่เหมือนพวกไสยศาสตร์ อันนั้นเสื่อม"
"การปลุกเสกพระ จำเป็นมั้ยคะว่าจะต้องเป็นพระเสกและต้องทำพิธีโดยพระเสมอไป?" ข้าพเจ้าถามต่อ
"ใครเสกก็ได้ ถ้าคนนั้นมีพลังจิตแข็งแกร่ง มีเมตตา มีศีล ต้องดูว่าเสกแบบไหน ทางค้าขาย ทางเมตตา ทางคงกระพัน ทางแคล้วคลาด อย่างปู่สอนพวกเธอนั่นไง ตั้งธาตุหนุนธาตุ มีการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวาทั้งหลายลงมาช่วยกระทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์มีอานุภาพยิ่งขึ้น การเปิดเนตรพระ. นางกวัก ใครทำก็ได้ สวดๆไป มันก็ศักดิ์สิทธิ์เองแหละ เธอก็หัดเอาว่ะ ปู่สอนให้หมดแล้ว จะทำอะไรก็ให้ตั้งใจทำ ทำให้จริง มันก็ได้จริง ทำเล่นมันก็ได้เล่น เข้าใจหรือเปล่า?"
"เข้าใจค่ะ" ข้าพเจ้าตอบหลวงปู่ ท่านยกมือขึ้นโบก
"ไปๆ ปู่จะนอน" พูดจบท่านก็เอนหลังลงนอน ข้าพเจ้าจึงลากลับกุฏิ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปถามอีก แต่คิดไปคิดมาสงสารท่าน ให้ท่านพักผ่อนดีกว่า เอาล่ะ ยุติการสนทนาเพียงนี้ดีกว่านะ หลวงปู่ท่านสมกับเป็นปูชนียบุคคลโดยแท้ เมตตาทุกคนที่แวะเวียนมากราบนมัสการ ขอพร ขอเมตตาจากหลวงปู่ แต่ไม่เห็นมีใครมาให้พรกับหลวงปู่บ้างเลย
ฉะนั้น ในวันนี้ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๔ พวกลูกหลานซาบซึ้งในความเมตตากรุณาที่หลวงปู่มีให้กับหลานๆ หลานทุกคนจึงพร้อมใจกันอวยพรให้หลวงปู่บ้าง
"ลูกหลานขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก บารมีแห่งพระพุุทธองค์ อานิสงส์ของพระโพธิสัตว์ เทพเทวาทั้งหลาย ทุกภูมิ ทุกภพ บรรจบกับดวงจิตของหลานๆ ที่เพียรปฏิบัติบูชา คุณครูบาอาจารย์ ขอให้หลวงปู่ มีสุขภาพจิต สุขภาพกายแข็งแรง ทุกข์โศกโรคภัย จงอันตรธานหายไป ให้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่หลานๆ ตราบนานเท่านาน และขออานิสงส์ทั้งหลายที่ได้เพียรปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา บวกกับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ของหลวงปู่ จงนำพาให้หลวงปู่ถึงแก่ มรรค ผล และนิพพาน ในอนาคตกาลเบื้องหน้านี้เทอญ....สา...ธุ"
แม่ชี ณัฐทิพย์ ตนุพันธ์
ผมขอขอบคุณ แม่ชี ณัฐทิพย์ ตนุพันธ์ และ ผู้จัดทำหนังสือครบรอบ ๑๐๖ ปี หลวงปู่สุภา อีกครั้ง ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสคัดลอกบทความดีๆ มาเผยแพร่ในเวปบล็อกนี้
No comments:
Post a Comment