Monday, November 5, 2012

พระธาตุท่าอุเทน

ประวัติพระธาตุท่าอุเทนโดยสังเขป


     พระธาตุท่าอุเทน ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุ ท่าอุเทน เลขที่ ๘๗ บ้านท่าอุเทน ตำบล/อำเภอ ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ลักษณะเป็นเจดีย์โบราณคล้ายพระธาตุพนม ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานกว้างและยาวด้านละ ๖ วา ๓ ศอก สูง ๓๓ วา ศิลปะสมัยทวาราวดี สร้างขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๕ โดยท่านหลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ) เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาวจังหวัดหนองคาย สกลนคร อำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดนครพนม (รวมทั้งมุกดาหาร คำชะอี ขณะนั้นเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดนครพนม) มาร่วมทำการก่อสร้างขึ้นไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง ตรงกับเมืองปากน้ำหินปูน ประเทศลาว (เมืองหินปูน ปัจจุบันนี้ เรียกว่า เมืองหินปูน สปป. ลาว)


พระธาตุท่าอุเทนนี้ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยหลวงปู่สีทัตถ์ ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า สำหรับลักษณะภายใน ได้ออกแบบเป็น ๓ ชั้น คือ 

ชั้นแรก      ทำเป็นอุโมงค์ 
ชั้นที่สอง   ก่อครอบชั้นที่ ๑
ชั้นที่สาม   คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นชั้นนอกสุด ได้ยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุแล้วเสร็จในวันขึ้น ๑๕​    ค่ำ เดือน ๔ ปี เถาะ  ตรงกับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๕๘ รวมเป็นเวลา ๕ ปี

ต่อจากนั้นก็ปูอิฐและก่อกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ ๓ ชั้น เป็นเวลา ๑ ปี รวมเป็นเวลา ๖ ปี จึงเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ทุกอย่าง ตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ และมีงานนมัสการประจำปี ตรงกับ ขึ้น ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปี

ช่างแกะสลักลวดลาย  ซึ่งมีฝีมือดีที่มาปวารณาตัวแกะสลักเพื่อการกุศล มี ๕ ท่าน คือ
๑.   พระอาจารย์มหาเสนา   ชาวอำเภอท่าอุเทน
๒.   พระอาจารย์ผง              ชาวอำเภอท่าอุเทน
๓.   พระอาจารย์จันทร์         ชาวอำเภอท่าอุเทน
๔.   พระอาจารย์คำพันธ์      ชาว อ. โพนพิสัย จ.หนองคาย
๕.   พระอาจารย์ยอดแก้ว    ชาว อ. คำชะอี  จ.นครพนม (ขณะนั้น)

     ของมีค่าซึ่งบรรจุในพระธาตุ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง นอ งา พระพุทธรูป ฯลฯ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา นำมาบรรจุไว้ คิดเป็นเงินประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท) เฉพาะนายเซ่า แซ่คู พ่อค้าใหญ่ จังหวัดหนองคายคนเดียว ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

ภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑

     จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการนำของ ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำในการบูรณะ นายฐิติ บุรกรรมโกวิท รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วน ช. ประชุมพันธุ์ ทำการบูรณะตั่งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงแล้วเสร็จ



คำนมัสการพระธาตุท่าอุเทน

* ปุริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* ทักขิณายะ ทิสายะ นทีทิเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* ปัจฉิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* อุตตรายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* เหฏฐิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* อุปริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.




นอกจากที่พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวัณณมาโจ ได้สร้างวัดพระธาตุ ท่าอุเทน แล้ว ยาครูสีทัตถ์ยังได้สร้าง วัดพระพุทธบาทบัวบก และ วัดพระบาทโพนสัน อีกด้วย

วัดพระบาทโพนสัน ประเทศลาว
ภาพถ่ายโดย นายปราโมทย์ มาทย์เมือง
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔

ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๐ โดยนายปราโมทย์ มาทย์เมือง



No comments:

Post a Comment