Monday, November 26, 2012

วัดสารอด ราษฏร์บูรณะ


วัดสารอด เป็นวัดราษฎร์ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ไม่ระบุว่าใครคือผู้สร้าง 
     แต่เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดเสือรอด โดยมีเรื่องเล่าว่าในอดีตเมื่อสร้างวัดเสร็จใหม่ๆ มีเสือตัวหนึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บ หลบหนีเข้ามาในวัด ต่อมาเสือตัวนั้นได้หายบาดเจ็บอย่างน่าอัศจรรย์ ต่อมาชาวบ้านจึงขอทางราชการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสารอด 





พระพุทธรูปที่สำคัญ
๑. หลวงพ่อพลอย
๒. หลวงพ่อเพชร
๓. หลวงพ่อรอด      พระพุทธรูปปรางค์สมาธิสมัยอยุธยา ตามตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่งองค์หลวงพ่อเคยถูกโจรขโมยลงเรือไป แต่เรือกลับล่ม แล้วองค์หลวงพ่อก็ลอยกลับมาที่วัด อันเป็นที่น่าอัศจรรย์

การสร้างพระเสด็จกลับ ที่วัดสารอด เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ

หลวงปู่ได้เดินทางจากภูเก็ตเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบอาจารย์ชุม ไชยคีรี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีความสามารถและมีความชำนาญ ในการสร้างพระเป็นเวลานาน  ท่านได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์ชุม เพื่อนำเอาว่านยา แร่ธาตุ ที่ท่านสะสมไว้ตอนเดินธุดงค์ สร้างรูปพระและวัตถุมงคลไว้สมนาคุณแก่ศิษยานุศิษย์ ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทุนสร้างพระวิหารครอบพระพุทธไสยาสน์ที่วัดเกาะสิเหร่  จังหวัดภูเก็ต   อาจารย์ชุม ไชยคีรี มีความยินดีและอนุโมทนาในการกุศล พร้อมกันนั้นได้มอบแร่ธาตุ ว่านยา ผงวิเศษ กว่า 1,000  ชนิด ที่อาจารย์เองเคยสะสมไว้มาประสมกับว่านของหลวงพ่อสุภา


ภาพประกอบจากหนังสือ ๑๐๐ ปี หลวงปู่สุภา

อาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้อัญเชิญวิญญาณขุนแผน ซึ่งท่านเคารพนับถือเป็นอย่างสูงในชีวิตของท่าน โดยที่ถือว่าเป็นวิญญาณวิเศษ เป็นเทพชั้นสูง เข้าประทับทรงเชิญเข้าร่วมการกุศล  วิญญาณขุนแผนผู้ปรารถนาพระโพธิญาณก็ยินดีอนุโมทนา อนุญาตให้ทำเป็นรูปพระทรงขุนแผนเรือนแก้ว พร้อมทั้งบอกตำราและวิธีสร้างพระตามตำราอาจารย์คง ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน อาจารย์คงเป็นอาจารย์ที่เคยสร้างพระทรงขุนแผนเรือนแก้วให้กับขุนแผนตั้งแต่ครั้งต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งขุนแผนเป็นแม่ทัพ  ท่านรับเข้าประทับทรงเป็นประธานทำพิธีปลุกเสก บรรจุคุณให้มีคุณครบถ้วนตามคุณวิเศษของท่านตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิต

ต่อจากนั้น อาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้ไปเชิญ อาจารย์อุทัย ดุจศรีวัชร์ อายุ 74 ปี ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณความรู้ทางคุณพระและทางไสยศาสตร์เป็นพิเศษอีกท่านหนึ่งมาร่วมด้วย  อาจารย์อุทัยก็ยินดีอนุโมทนา และท่านยังได้อุทิศว่านยา  แร่ธาตุผงวิเศษ ทำผ้ายันต์เสือ ผ้ายันต์สิงห์ ซึ่งเป็นผ้ายันต์ที่ท่านเคยใช้ได้ผลดีมาแล้วเข้าสมทบในการกุศล และได้อุทิศตัวเข้าร่วมปลุกเสกตลอดพิธี

ภาพประกอบจากหนังสือฉลอง ๑๐๐ ปี หลวงปู่สุภา


ต่อจากนั้น ก็พิจารณาหาสถานที่ทำพิธี เฒ่าแก่ ยู่ลิ้น แซ่เฮง ได้ขอร้องให้ไปทำพิธีที่วัดสารอด เขตราษฎร์บูรณะ โดยให้เหตุผลว่าวัดสารอดเป็นวัดที่ชำรุด ทรุดโทรม และกำลังบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่ หลวงพ่อสุภา และอาจารย์ชุม ไชยคีรี จึงได้ไปพบ อธิการชนาง เอี่ยมอุดม เจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัด ทุกคนเมื่อทราบเรื่องราวต่างก็ยินดีร่วมมือและให้ความสะดวกทุกประการ

พิธีสร้างพระเสด็จกลับจึงกำหนดทำขึ้นที่วัดสารอด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2506 การพิมพ์พระเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิการยน 2506 และพิมพ์ครบ 84,000 องค์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2506 ลงมือทำพิธีปลุกเสกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2506 และพิธีสมโภชได้ทำเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 24 มกราคม 2507 เวลา 6.00 นาฬิกา รวมเวลาทั้งสิ้น 2 เดือนเศษ


ภาพประกอบจากหนังสือ
ฉลอง ๑๐๐ ปี หลวงปู่สุภา
     พระเสด็จกลับหรือพระผงวิเศษจำนวน 84,000 องค์เป็นพระทรงขุนแผนเรือนแก้ว ทรงพระรอดรูปและลูกประคำหลวงปู่คงของอาจารย์ชุม ไชยคีรี รูปเหรียญ หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล ที่สร้างด้วยว่านยาแร่ธาตุพญาว่าน มหาว่าน น้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ รวม 2,000 กว่าชนิด ผ้ายันต์เสือ ผ้ายันต์สิงห์ของอาจารย์อุทัย ดุจศรีวัชร์ น้ำมันมหานิยมเลิกรบของอาจารย์ชุมที่ทำพิธีสร้างและพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดสารอด เขตราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น)

Monday, November 5, 2012

พระธาตุท่าอุเทน

ประวัติพระธาตุท่าอุเทนโดยสังเขป


     พระธาตุท่าอุเทน ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุ ท่าอุเทน เลขที่ ๘๗ บ้านท่าอุเทน ตำบล/อำเภอ ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ลักษณะเป็นเจดีย์โบราณคล้ายพระธาตุพนม ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานกว้างและยาวด้านละ ๖ วา ๓ ศอก สูง ๓๓ วา ศิลปะสมัยทวาราวดี สร้างขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๕ โดยท่านหลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ) เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาวจังหวัดหนองคาย สกลนคร อำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดนครพนม (รวมทั้งมุกดาหาร คำชะอี ขณะนั้นเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดนครพนม) มาร่วมทำการก่อสร้างขึ้นไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง ตรงกับเมืองปากน้ำหินปูน ประเทศลาว (เมืองหินปูน ปัจจุบันนี้ เรียกว่า เมืองหินปูน สปป. ลาว)


พระธาตุท่าอุเทนนี้ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยหลวงปู่สีทัตถ์ ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า สำหรับลักษณะภายใน ได้ออกแบบเป็น ๓ ชั้น คือ 

ชั้นแรก      ทำเป็นอุโมงค์ 
ชั้นที่สอง   ก่อครอบชั้นที่ ๑
ชั้นที่สาม   คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นชั้นนอกสุด ได้ยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุแล้วเสร็จในวันขึ้น ๑๕​    ค่ำ เดือน ๔ ปี เถาะ  ตรงกับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๕๘ รวมเป็นเวลา ๕ ปี

ต่อจากนั้นก็ปูอิฐและก่อกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ ๓ ชั้น เป็นเวลา ๑ ปี รวมเป็นเวลา ๖ ปี จึงเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ทุกอย่าง ตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ และมีงานนมัสการประจำปี ตรงกับ ขึ้น ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปี

ช่างแกะสลักลวดลาย  ซึ่งมีฝีมือดีที่มาปวารณาตัวแกะสลักเพื่อการกุศล มี ๕ ท่าน คือ
๑.   พระอาจารย์มหาเสนา   ชาวอำเภอท่าอุเทน
๒.   พระอาจารย์ผง              ชาวอำเภอท่าอุเทน
๓.   พระอาจารย์จันทร์         ชาวอำเภอท่าอุเทน
๔.   พระอาจารย์คำพันธ์      ชาว อ. โพนพิสัย จ.หนองคาย
๕.   พระอาจารย์ยอดแก้ว    ชาว อ. คำชะอี  จ.นครพนม (ขณะนั้น)

     ของมีค่าซึ่งบรรจุในพระธาตุ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง นอ งา พระพุทธรูป ฯลฯ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา นำมาบรรจุไว้ คิดเป็นเงินประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท) เฉพาะนายเซ่า แซ่คู พ่อค้าใหญ่ จังหวัดหนองคายคนเดียว ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

ภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑

     จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการนำของ ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำในการบูรณะ นายฐิติ บุรกรรมโกวิท รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วน ช. ประชุมพันธุ์ ทำการบูรณะตั่งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงแล้วเสร็จ



คำนมัสการพระธาตุท่าอุเทน

* ปุริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* ทักขิณายะ ทิสายะ นทีทิเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* ปัจฉิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* อุตตรายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* เหฏฐิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

* อุปริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง
อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.




นอกจากที่พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวัณณมาโจ ได้สร้างวัดพระธาตุ ท่าอุเทน แล้ว ยาครูสีทัตถ์ยังได้สร้าง วัดพระพุทธบาทบัวบก และ วัดพระบาทโพนสัน อีกด้วย

วัดพระบาทโพนสัน ประเทศลาว
ภาพถ่ายโดย นายปราโมทย์ มาทย์เมือง
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔

ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๐ โดยนายปราโมทย์ มาทย์เมือง